การเขียนรายงานทางวิชาการ
การเขียนรายงานทางวิชาการ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการเรียน
ในระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาในระดับนี้จะเน้นให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง สามารถแสวงหาความรู้ ฝึกฝนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้
รวมทั้งสามารถนำเสนอผลการศึกษาเรียนรู้ของตนเองได้
นักศึกษาจะเขียนรายงานทางวิชาการได้อย่างไร รายงานลักษณะใดที่จัดว่าเป็นรายงานที่ดี
มีระเบียบวิธีการอะไรบ้างที่จะต้องเรียนรู้ก่อนทำรายงาน
ในบทความนี้จะให้คำตอบที่เป็นหลักปฏิบัติของคำถามเหล่านั้น
เพื่อให้นักศึกษาได้นำไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการเขียนรายงาน
ลักษณะของรายงานที่ดี
รายงานที่ดีควรมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้
1.รูปเล่ม ประกอบด้วยหน้าสำคัญต่าง ๆ
ครบถ้วน การพิมพ์ประณีตสวยงาม การจัดย่อหน้าข้อความเป็นแนวตรงกันใช้ตัวอักษรรูปแบบ
(Font) เดียวกันทั้งเล่ม จัดตำแหน่งข้อความและรูปภาพได้สอดคล้องสัมพันธ์ และอ่านง่าย
2. เนื้อหา เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าที่น่าสนใจของผู้เขียน แสดงถึงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง เป็นปัจจุบันทันสมัย ครอบคลุมเรื่องได้อย่างสมบูรณ์ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งของผู้เขียน
นอกจากแสดงความรู้ในข้อเท็จจริงแล้ว
ผู้เขียนควรแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ๆ
ทรรศนะ ใหม่ๆหรือแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องที่กําลังศึกษาอยู่ ด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นไปตามลำดับไม่ซ้ำซากวกวนแสดงให้เห็นความสามารถในการกลั่นกรอง สรุปความรู้และความคิดที่ได้จากแหล่งต่าง
ๆ
3. สำนวนภาษา เป็นภาษาที่นิยมโดยทั่วไป สละสลวย ชัดเจน
มีการเว้นวรรคตอน สะกดการันต์ถูกต้อง
ลำดับความได้ต่อเนื่อง
และสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง
4. การอ้างอิงและบรรณานุกรมถูกต้องตามแบบแผน มีการแสดงหลักฐานที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน เมื่อกล่าวถึงเรื่องใดก็มีหลักฐานอ้างอิงเพียงพอและสมเหตุสมผล เลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ซึ่งการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรมจะบ่งบอกถึงคุณภาพทางวิชาการของรายงานนั้น
ขั้นตอนการทำรายงาน
การทำรายงานให้ประสบความสำเร็จ ควรวางแผนดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. กำหนดเรื่อง
การกำหนดเรื่องที่จะทำรายงาน ต้องเกิดจากความต้องการอยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ควรเป็นเรื่องที่นักศึกษาสนใจ
หรือมีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้างแล้ว
ขอบเขตของเรื่องไม่ควรกว้างหรือแคบเกินไป เพราะถ้ากว้างเกินไปจะทำให้เขียนได้อย่างผิวเผิน
หรือถ้าเรื่องแคบเกินไปอาจจะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเขียนได้ ในการกำหนดเรื่องควรคิดโครงเรื่องไว้คร่าว
ๆ ว่าจะมีเนื้อหาในหัวข้อใดบ้าง
2. สำรวจแหล่งข้อมูล
แหล่งข้อมูลเบื้องต้นควรเริ่มที่ห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต ในการสำรวจควรใช้เครื่องมือที่แหล่งนั้นจัดเตรียมไว้ให้
เช่นห้องสมุดควรใช้ บัตรรายการ บัตรดัชนีวารสาร และ โอแพค (OPAC) เป็นต้น การค้นทางอินเทอร์เน็ตควรใช้เว็บไซต์ Google,
Yahoo เป็นต้น นักศึกษาต้องเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือและคำสั่งในการสืบค้นให้เข้าใจดีเสียก่อน
จึงจะช่วยให้ค้นคว้าได้รวดเร็วและได้เนื้อหาสาระที่ครบถ้วน เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วจะต้องจัดเก็บรวบรวมให้เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ เอกสารที่รวบรวมได้ทุกรายการต้องเขียนบรรณานุกรมบอกแหล่งที่มาไว้ด้วย เพื่อใช้ค้นคืนไปยังแหล่งเดิมได้อีกในภายหลัง
3.กำหนดโครงเรื่อง
การกำหนดโครงเรื่อง
เป็นการกำหนดขอบข่ายเนื้อหาของรายงานว่าจะให้มีหัวข้อเรื่องอะไรบ้าง โครงเรื่องที่ดีจะต้องมีสาระสำคัญที่ตอบคำถาม 5W1H ได้ครบถ้วน กล่าวคือ เนื้อหาของรายงานควรตอบคำถามต่อไปนี้ได้ เช่น
ใครเกี่ยวข้อง (Who) เป็นเรื่องอะไร (What) เกิดขึ้นเมื่อไร (When) ที่ไหน (Where) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น--เพราะเหตุใด (Why) เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีวิธีทำอย่างไร
(How)
การคิดโครงเรื่องอาจใช้ผังความคิด
(Mind
map) ช่วยในการกำหนดประเด็นหัวข้อใหญ่หัวข้อรอง ส่วนการจัดเรียงหัวข้อให้มีความสัมพันธ์เป็นลำดับต่อเนื่องที่ดี
อาจใช้ผังความคิดแบบก้างปลา (Fish bone diagram) หรือแบบต้นไม้ (Tree diagram) จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิดได้ง่ายขึ้น การตั้งชื่อหัวข้อควรให้สั้นกระชับได้ใจความครอบคลุมเนื้อหาในตอนนั้น
ๆ
4. รวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง
เมื่อกำหนดโครงเรื่องแน่ชัดดีแล้ว
จึงลงมือสืบค้นและรวบรวมข้อมูลตามบรรณานุกรมที่รวบรวมไว้ในขั้นตอนการสำรวจ การรวบรวมอาจจะถ่ายเอกสารจากห้องสมุด
หรือพิมพ์หน้าเอกสารที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ต
เสร็จแล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาแยกตามหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้
5. อ่านตีความ สังเคราะห์ข้อมูล
และจดบันทึก
การอ่านให้เน้นอ่านจับใจความสำคัญของเรื่อง เพื่อดึงเนื้อหาที่สอดคล้องกับประเด็น
แนวคิดต่างๆ ตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้ ทำการบันทึกเนื้อหาลงในบัตรบันทึก เสร็จแล้วนำบัตรบันทึกมาจัดกลุ่มตามประเด็นแนวคิด
เพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อหาของรายงานต่อไป หรืออาจทำเครื่องหมายตรงใจความสำคัญ
(ขีดเส้นใต้) แทนการทำบัตรบันทึก (กรณีเป็นหนังสือของห้องสมุดไม่ควรขีดเขียนหรือทำเครื่องหมายใดๆ)
6. เรียบเรียงเนื้อหา
เนื้อหาสาระที่นำมาเรียบเรียงต้องเป็นเนื้อหาที่ได้จากการประเมิน
วิเคราะห์ และสังเคราะห์จากขั้นตอนที่ 5 มาแล้ว (การวิเคราะห์และสังเคราะห์สารสนเทศ สามารถศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ในรายวิชาสารสนเทศและการศึกษาค้นคว้า)
ส่วนประกอบของรายงาน
รายงานประกอบด้วยส่วนสำคัญ
4 ส่วนคือ
1)
ส่วนนำเรื่อง ได้แก่ ปกนอก ปกใน คำนำ สารบัญ
2) ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย
บทนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป
3)
ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วยรายการอ้างอิง บรรณานุกรม
และ
4)
ภาคผนวก
ซึ่งแต่ละส่วนควรมีสาระสำคัญดังนี้
1.
ปกนอกและปกใน ปกนอกใช้กระดาษอ่อนที่หนากว่าปกในซึ่งอาจเลือกสีได้ตามต้องการ ไม่ควรมีภาพประกอบใด ๆ ส่วนปกในและเนื้อเรื่องให้ใช้กระดาษขาวขนาด A4 ความหนาไม่ต่ำกว่า 80 แกรม ปกในพิมพ์ข้อความเช่นเดียวกับปกนอก ข้อความที่ปกนอกปกในประกอบด้วย ชื่อเรื่องของรายงาน ชื่อผู้เขียน
รหัสประจำตัว ชื่อวิชา ชื่อสถานศึกษา และช่วงเวลาที่ทำรายงาน
ตัวอย่าง
2.
คำนำ กล่าวถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์
ความเป็นมา
ประเด็นหัวข้อเนื้อหาในรายงานเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากติดตามเรื่อง
ซึ่งอาจเป็นปัญหา ประโยชน์หรือผลกระทบอย่างไรต่อผู้อ่านและสังคม อาจกล่าวขอบคุณหรือบอกแหล่งที่มาของข้อมูล
เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่นำเสนอ
สุดท้ายระบุชื่อ-สกุล ผู้เขียนรายงานและวันเดือนปีในการทำรายงาน
ตัวอย่าง
3.สารบัญ ระบุหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง (ถ้ามี) และเลขหน้า ใช้จุดไข่ปลาลากโยงจากหัวข้อไปยังเลขหน้าให้ชัดเจน การพิมพ์สารบัญต้องจัดย่อหน้าและเลขหน้าให้ตรงกัน
ตัวอย่าง
4.เนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องประกอบด้วยส่วนสำคัญ
3 ส่วนคือ ส่วนนำเรื่อง ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนสรุป
ส่วนนำเรื่องหรือบทนำ ต้องเขียนให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อไป บทนำอาจกล่าวถึง ความสำคัญ บทบาท ปัญหา ผลกระทบ
วัตถุประสงค์ ขอบเขตเนื้อหา หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ เป็นต้น ซึ่งประเด็นที่กล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมด
แต่อย่างน้อยให้มีประเด็นใดประเด็นหนึ่งดังที่กล่าว
ตัวอย่าง
5.การอ้างอิง การอ้างอิงจะแทรกเป็นวงเล็บไว้ในเนื้อเรื่อง เพื่อบอกแหล่งที่มาของข้อมูล เป็นการยื่นยันความถูกต้องและแสดงความน่าเชื่อถือของข้อมูล
การอ้างอิงให้ระบุชื่อผู้แต่ง ปีพิมพ์
และเลขหน้า
หรือที่เรียกว่าอ้างอิงแบบ นาม- ปี
ซึ่งมีวิธีการดังนี้
ตัวอย่าง
5.1 ระบุไว้หลังข้อความที่อ้าง เช่น
สารสนเทศ
หมายถึง ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ ที่ผ่านกระบวนการ ประมวลผล
มีการถ่ายทอด และการบันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์
รายงาน โสตทัศนวัสดุ เทปคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการถ่ายทอดในรูปแบบอื่นๆ เช่น คำพูด
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้รับสารได้ทราบ (ประภาวดี สืบสนธิ์, 2543, หน้า 6)
5.2ระบุไว้ก่อนข้อความที่อ้าง เช่น
ชุติมา
สัจจานันท์
(2530, หน้า 17) ให้ความหมายของสารสนเทศไว้ว่า
คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ข้อสนเทศ สารสนเทศ ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ
และวัสดุย่อส่วน เพื่อใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารและการพัฒนาด้านต่างๆ
ทั้งส่วนบุคคลและสังคม
6. บรรณานุกรม หน้าบรรณานุกรมจะอยู่ต่อจากส่วนเนื้อเรื่อง โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือที่นำมาอ้างอิงไว้ในรายงานได้แก่ ชื่อผู้แต่ง ปีพิมพ์ ชื่อบทความ
ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์ และสถานที่พิมพ์ เป็นต้น
การเขียนบรรณานุกรมมีรูปแบบที่เป็นสากลหลายรูปแบบ แต่ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่
2
แบบคือ 1 1.แบบ MLA (Modern Language Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขามนุษยศาสตร์
2.แบบ APA (American
Psychological Association Style)
ซึ่งนิยมใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะของการเขียนรายงานที่ดี
การเขียนรายงานที่ดีควรมีลักษณะที่ดีดังนี้
1. แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง
กว้างขวาง และมีเนื้อเรื่องครบถ้วนตามหัวข้อที่กำหนด
2.
มีความถูกต้องเที่ยงตรง และแม่นยำ
3.
ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน
4.
ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่
5. แสดงว่าผู้เขียนมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องที่เขียน
อาจจะเป็นแนวทางสำหรับการศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้นให้กว้างขวางและลึกซึ้งต่อไป
6.
มีแนวทางที่แก้ไขปัญหาที่กำลังศึกษาอยู่
7. จัดเรียงลำดับของเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง
มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี เมื่อกล่าวถึงสิ่งใดก็มีหลักฐานอ้างอิงอย่างเพียงพอ
สมเหตุสมผล
ตลอดจนมีความสามารถในการกลั่นกรองและสรุปความรู้ความคิดได้จากแหล่งต่างๆ
8.
แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนมีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตนเอง
9.
แสดงหลักฐานที่มาอย่างถูกต้องและละเอียดถี่ถ้วน
10.
ใช้ภาษาได้ถูกต้องได้ผลตามจุดมุ่งหมาย
และเป็นภาษาที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป
การเขียนอ้างอิงหรือบรรณานุกรม
ความหมายของบรรณานุกรม
บรรณานุกรม คือ รายชื่อหนังสือเอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
รวมทั้งโสตทัศนวัสดุ และสื่ออีเล็กทรอนิกส์
ที่นำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงในการเขียนรายงาน โดยเรียงตามลำดับอักษรไว้ท้ายเรื่อง
จุดมุ่งหมายในการเขียนบรรณานุกรม
1. ทำให้รายงานนั้นเป็นรายงานที่มีเหตุผล
มีสาระน่าเชื่อถือ
2. เป็นการเคารพสิทธิและความคิดเห็นของผู้อื่นจึงนำมาอ้างไว้
3. เป็นแนวทางสำคัญสำหรับผู้สนใจต้องการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมโดยศึกษาได้จากบรรณานุกรมนั้นๆ
4. สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นำมาอ้างได้
วิธีเขียนบรรณานุกรม
การเขียนบรรณานุกรมจากหนังสือ
ผู้เรียนสามารถนำข้อมูลจากหน้าปกใน และด้านหลังของหน้าปกใน
ของหนังสือเล่มที่บันทึกข้อมูลมาเขียนบรรณานุกรม การเขียนบรรณานุกรมจากวารสาร
นำข้อมูลจากหน้าปก ของวารสารฉบับที่บันทึกข้อมูล มาเขียนบรรณานุกรม และการเขียนบรรณานุกรมจากหนังสือพิมพ์
นำข้อมูลจากหน้าแรกของหนังสือพิมพ์มาเขียนบรรณานุกรม และการเขียนบรรณานุกรมจากสื่ออีเล็กทรอนิกส์
นำข้อมูลจากหน้าแรกของเว็บเพจมาเขียนบรรณานุกรม ดังนี้
1. เขียนไว้ในส่วนท้ายของรายงาน
2. เขียนเรียงลำดับอักษรชื่อผู้แต่ง ในกรณีที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ให้เขียนบรรณานุกรมภาษาไทยก่อน
3. บรรทัดแรกของบรรณานุกรมชิดด้านซ้ายที่เว้นจากขอบกระดาษเข้ามา
1.5 นิ้ว ถ้ายังไม่จบ
เมื่อขึ้นบรรทัดใหม่โดยย่อหน้าเข้ามาประมาณ 7 ช่วงตัวอักษรของบรรทัดแรก
ให้เขียนตรงกับช่วงตัวอักษรที่ 8
4. รายละเอียดในโครงสร้างรูปแบบบรรณานุกรมหนังสือ มีดังนี้
1. โครงสร้างรูปแบบบรรณานุกรมหนังสือ
1.1 การอ้างถึงชื่อผู้แต่ง 1.1.1 ผู้แต่งคนเดียว
1.1.2 ผู้แต่ง 2 คน ให้ใส่คำว่า “และ” เชื่อมระหว่างคนที่ 1 กับคนที่ 2
1.1.3 ผู้แต่ง 3 คน ให้ใส่เครื่องหมายจุลภาคคั่นระหว่างคนที่ 1 กับคนที่ 2 และใส่คำว่า “และ” เชื่อมระหว่างคนที่ 2 กับคนที่ 3
1.1.4 ผู้แต่งตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ลงเฉพาะชื่อแรก และตามด้วยคำว่า และคนอื่น ๆ
1.1.5 หนังสือที่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ให้ใช้ชื่อเรื่องเป็นรายการแรกแทนชื่อผู้แต่ง
1.1.6 ผู้แต่งใช้นามแฝง ให้ใช้นามแฝงได้เลย
1.1.7 หนังสือแปล ให้ใส่ชื่อ นามสกุลของผู้แต่ง ก่อนผู้แปล
1.1.8 ผู้แต่งมีบรรดาศักดิ์ ให้ใส่ชื่อ นามสกุล ตามด้วยบรรดาศักดิ์
1.2 รูปแบบของบรรณานุกรมหนังสือ
รูปแบบของบรรณานุกรม มี 2 แบบ
1.2.1 การอ้างอิงแยกจากเนื้อหาอยู่ท้ายของรายงาน
1) การอ้างอิงเนื้อหาบางบท หรือบางตอน ในหนังสือเล่มเดียวจบ ให้ใส่ชื่อบท หรือตอน ใช้คำว่า “ใน” ตามด้วยชื่อหนังสือ และระบุหน้า เมืองที่พิมพ์ ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์
2) การอ้างอิงเนื้อหาบางบท หรือบางตอน ของหนังสือบางเล่มที่มีหลายเล่มจบ ใช้คำว่า “ใน” ตามด้วยชื่อหนังสือ ระบุเล่ม และหน้าตามด้วยเลขหน้าที่อ้างอิง เมืองที่พิมพ์ ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์
3) การอ้างอิงตลอดทุกเล่มที่มีหลายเล่มจบ ให้ระบุจำนวนเล่ม ตามด้วย เมืองที่พิมพ์ ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์
4) การอ้างอิงเพียงเล่มใดเล่มหนึ่ง ให้ระบุเล่มที่อ้างอิงตามด้วย เมืองที่พิมพ์ ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์
1.2.2 การอ้างอิงแทรกในเนื้อหา 1) เมื่อต้องการจะแทรกในเนื้อหาสามารถแทรกวงเล็บพร้อมกับอ้างอิงได้ทันที เมื่อจบข้อความ 1.1) รายการอ้างอิง ประกอบด้วย ชื่อ นามสกุลผู้แต่ง ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค ปีที่พิมพ์ ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค หน้า/เลขหน้าที่อ้างถึง
1.2) หากไม่มีชื่อผู้แต่ง ให้ใช้ชื่อหน่วยงานแต่ง ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค ปีที่พิมพ์ ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค หน้า/เลขหน้าที่อ้างถึง
1.3) หากไม่ระบุปีที่พิมพ์ และเลขหน้า ให้ใช้ตัวอักษรย่อ “ม.ป.ป.” ย่อมาจากคำว่า ไม่ปรากฏเลขหน้า และระบุคำว่า ไม่มีเลขหน้าลงไปได้เลย
2) ถ้าระบุชื่อผู้แต่งลงในเนื้อหาแล้วอ้างต่อทันทีในวงเล็บ ไม่จำเป็นต้องระบุ ชื่อผู้แต่งซ้ำอีก
ยกเว้นผู้แต่งเป็นชาวต่างชาติ
3) การอ้างถึงเอกสารที่ไม่สามารถค้นหาต้นฉบับจริงได้ ให้อ้างจากเล่มที่พบ ใช้คำว่า “อ้างถึงใน” หากเป็นบทวิจารณ์ ใช้คำว่า “วิจารณ์ใน”
4) การอ้างถึงเฉพาะบท ใช้คำว่า “บทที่”
5) การอ้างถึงตาราง ในเนื้อหา ใช้คำว่า “ดูตารางที่” การอ้างถึงภาพในเนื้อหา ใช้คำว่า “ดูภาพที่”
2. โครงสร้างและรูปแบบบรรณานุกรมวารสาร
2.1 การเขียนบรรณานุกรมจากบทความในวารสาร มีปีที่ และฉบับที่
2.2 บทความในวารสาร ที่ไม่มีปีที่ ออกต่อเนื่องทั้งปี
3. โครงสร้างและรูปแบบบรรณานุกรมหนังสือพิมพ์
3.1 การเขียนบรรณานุกรมบทความในหนังสือพิมพ์
3.2 การเขียนบรรณานุกรมข่าวจากหนังสือพิมพ์ ให้เขียนหัวข่าว
3.3 การเขียนบรรณานุกรมจากคอลัมน์จากหนังสือพิมพ์
4. รูปแบบบรรณานุกรมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระบบออนไลน์ (Online) หรืออินเทอร์เน็ต
4.1 เว็บเพจ มีผู้เขียน หรือมีหน่วยงานรับผิดชอบ
4.2 เว็บเพจไม่ปรากฏผู้เขียน และปีที่จัดทำ ใส่ ม.ป.ป. (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)
ข้อคิดเพิ่มเติม
รายงานทางวิชาการเป็นผลจากการแสวงหาความรู้ตามขอบข่ายเนื้อหาสาระในรายวิชาต่างๆ ที่อาจารย์ผู้สอนมอบหมาย เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
พร้อมไปกับการมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรายวิชาเหล่านั้น การทำรายงานทางวิชาการอย่างเป็นขั้นตอน
โดยเริ่มจาก
1) กำหนดเรื่อง
2) สำรวจแหล่งข้อมูล เพื่อค้นหาข้อมูลเบื้องต้นมาเป็นแนวทางในการ
3) กำหนดโครงเรื่อง
4) การรวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง
5) การอ่านวิเคราะห์และสังเคราะห์
แล้วจึงลงมือ
6) เขียนรายงาน จะช่วยลดความยุ่งยากและช่วยให้การทำรายงานสำเร็จได้โดยง่าย
รายงานทางวิชาการที่ดี จะพิจารณากันที่ รูปเล่ม
เนื้อหา การเขียนอธิบายความชัดเจน เข้าใจง่าย
มีการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรม ที่มาของข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถูกต้องตามแบบแผน ดังนั้น การประเมินคุณค่าของรายงานจึงพิจารณาที่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการสังเคราะห์ความรู้ของผู้ทำรายงาน รายงานที่ดีจะต้องแสดงเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง แสดงความคิดหรือทัศนะของผู้เขียนอย่างมีเหตุผล และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ
ต้องเป็นผลงานที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาเอง ซึ่งมิใช่ผลงานที่คัดลอกจากผู้อื่น
ขอขอบคุณเเหล่งที่มาในการให้ข้อมูล
-ลักษณะของรายงานที่ดี.มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ธนู บุญญานุวัตร
-http://www.bangkapi.ac.th/MediaOnLine/weerawanWMD/unit5_part13.htm
-http://www.pramot.com/main/index.php/education-corner/165-bibliography
-http://blog.eduzones.com/jybjub/15711