ความขัดแย้งทางศาสนาในพม่า พุทธ+มุสลิม

พม่าเป็นประเทศที่ไม่เคยปลอดจากความรุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนแม้จนได้ประชาธิปไตยมาแล้วในระดับหนึ่ง ปัญหานี้ก็ยังมีอยู่ความเจ็บปวดในเรื่องเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ชาวพม่ากำลังนำไปใช้แก้ปัญหาอยู่จนทำให้ปัญหาคลี่คลายลงไปได้เยอะ บางทีศึกระหว่างกองทัพกับพวกคะฉิ่นอาจเป็นสงครามใหญ่ครั้งสุดท้ายของแนวรบด้านนี้ก็ได้ กระนั้นก็ตาม พม่ายังไม่ตระหนักถึงแนวรบใหม่ที่น่าหนักใจกว่าเก่า เพราะอาจระบาดบานปลายเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงประสบการณ์และความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของผู้นำพม่าในทุกฝ่ายแล้ว อนาคตยิ่งดูมืดมน ปัญหานั้นคือปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม

จลาจลที่ขยายวงจากเมืองเมกติลาไปยังเมืองต่างๆ ในพม่านั้นเป็นเครื่องชี้ชัดถึงการขาดความอดกลั้นของทั้งชาวพุทธ ชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่อาจเกิดจากผลิตผลของประชาธิปไตยที่เพิ่งลิ้มรส ชาวพุทธเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศนี้ มีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง รู้สึกไม่พอใจต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาที่เรียกร้องสิทธิต่างๆ มากขึ้นหรือมีท่าทีที่ชวนหมั่นไส้ พวกเขาจะแสดงออกอย่างรุนแรงมากล้น ถ้าพวกคนต่างกลุ่มดำเนินการเกินเลย เช่น ข่มขืนชาวพุทธ ปฏิเสธการให้บริการ หรือด่าทอ ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกแบบเดียวกับชาวเซิร์บในยูโกสลาเวีย ยุค 80 ทั้งนี้เพราะเมื่อความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ละลายไป สิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้นแทนไม่ใช่สังคมยุคพระศรีอาริย์ที่ทุกอย่างดีไปหมด แต่มนุษย์ในสังคมจะหวนกลับไปรื้อฟื้นหรือยึดติดกับสิ่งที่เป็นตัวตนขั้นดิบของพวกเขา นั่นคือ เชื้อชาติและศาสนา คราวนี้ล่ะจะยุ่ง หากกลุ่มชนนั้นมีความรู้สึกแบ่งพวกเขา-พวกเรา สูง สภาพสังคมแบบพม่าดันเป็นเช่นนั้นเสียด้วย ที่ชาวพุทธมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูง ขาดประสบการณ์การผ่อนปรนกับคนนอกศาสนา เพราะไม่ค่อยมีความขัดแย้งทำนองนี้

ฝ่ายมุสลิมในพม่าก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน ในอดีตพวกเขายอมรับความเป็นรองอยู่เงียบๆ ในสังคมพุทธเป็นใหญ่ แต่ในยุคประชาธิปไตย พวกเขาก็มีกลุ่มที่กล้าแสดงออก กล้าลุยเรียกร้องและกล้าต่อสู้ขึ้นมา ผลก็คือยิ่งทำให้มวลความร้อนปะทะกับมวลความร้อน เรื่องที่น่าจะจบลงกันได้ด้วยคนไม่กี่คน กลายเป็นการนับศพเพิ่มขึ้นๆ คนคลั่งแค้นเข้าปะทะกันมากขึ้น และอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายตรงข้ามก็ต้องถูกทำให้พินาศลงโดยไม่ต้องคำนึงถึงสติอะไรอีก

ความขัดแย้งขยายตัวเมื่อชาวพุทธแพ็กกันแน่นทุกองค์กรดำเนินการเล่นงานหรือตอบโต้คนต่างศาสนาอย่างเป็นระบบ ขณะที่ชาวมุสลิมก็อาศัยโลกาภิวัตน์แสวงหาแนวร่วมจากที่ต่างๆ นอกพม่า ดังนั้นจึงอย่าแปลกใจที่สหประชาชาติจะวิตกต่อเรื่องนี้ แนวร่วมอิสลามจะประณามพม่า หรืออาจมีนักรบต่างชาติเข้าไปทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ในนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามยุติความขัดแย้งแบบที่เคยทำกับจลาจลที่ยะไข่ไม่ว่าการจับกุมทุกฝ่าย ประกาศเคอร์ฟิว หรืออ้อนวอนขอร้องให้ทุกฝ่ายหยุดฆ่ากันซะที แต่นั่นก็จะไม่ได้ช่วยอะไรในระยะยาว เพราะผู้นำพม่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ อีกทั้งลึกๆ แล้วเลือกข้าง
พวกเขาพยายามทำให้โลกคิดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เดี๋ยวก็หายไปเอง พวกเขาอ้างว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาขั้นสุดท้ายอยู่แล้ว แต่ตอบไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรฝ่ายรัฐบาลนั้นยังไม่กระทบชื่อเสียงนัก เพราะนานาชาติมองทหารพม่าในแง่นิยมการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงอยู่แล้วแต่กับออง ซาน ซูจี ที่ก้าวไปถึงระดับเทพสิทธิมนุษยชนแล้ว เรื่องนี้จะกระทบชื่อเสียงเธอมาก ยิ่งเธอเลือกที่จะเงียบมากกว่าผลักดันอันใด กระแสความสงสัยจะยิ่งพุ่งมายังเธอว่าสิทธิมนุษยชนที่เธอเรียกร้องนั้นจำกัดเฉพาะกลุ่มกระมัง
ในขณะที่รัฐบาลพม่ากำลังเดินหน้าเร่งปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ก็เผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพม่าต่างศาสนาในประเทศ นับแต่ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่เมื่อปี 2555 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายต่อพม่าทั้งภาพลักษณ์ และความสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินมีผู้เสียชีวิต 180คน ชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ต้องหนีตายไปอยู่ในบังคลาเทศเป็น110,000 คน ที่เหลือก็อพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นแบบไปตายเอาดาบหน้า ความขัดแย้งระหว่างศาสนาได้ลามไปยังพื้นที่อื่น ล่าสุดเกิดการจลาจลต่อสู้กันระหว่างชาวพม่าพุทธและพม่ามุสลิมในเมืองเมคถิลา ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศพม่า เหนือกรุงย่างกุ้ง มีคนเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 40 คน และมีผู้อพยพหนีความรุนแรงประมาณ 9,000 คน ถือว่ารุนแรงที่สุดนับแต่การปะทะกันระหว่างชาวพม่าพุทธและมุสลิม
มูลเหตุของการจลาจล

จุดเริ่มต้นมาจากการทุ่มเถียง วิวาทกันที่ร้านขายทองซึ่งเจ้าของเป็นคนมุสลิม ชาวพม่าพุทธมาซื้อทองแล้วถกเถียงกัน แต่เกิดวิวาทกันจนมีการบาดเจ็บ ซึ่งน่าจะเป็นชาวพุทธบาดเจ็บ ทีแรกการปะทะกันก็จำกัดอยู่ละแวกร้านทองเท่านั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 2 คน มีการปลุกระดมกันทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างยกพวกออกไปตีกัน แล้วค่อยๆ ลุกลามบานปลายออกไปเรื่อยๆ ชาวพุทธซึ่งมีพระสงฆ์มาร่วมกับเขาด้วย และชาวมุสลิมยกพวกถล่มกันตามท้องถนนในตัวเมือง เผาอาคารบ้านเรือน เจ้าหน้าที่เจอศพอยู่ใต้ซากสลักหักพังของอาคาร ชาวพม่าพุทธกลุ่มหนึ่งบุกไปทำลายมัสยิด หลายแห่ง ทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตแล้ว 40 ราย
มีผู้ก่อเหตุหลายสิบคนถูกจับกุม ทางการพม่าประกาศภาวะฉุกเฉินและประกาศเคอร์ฟิวในเขตเมืองเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ แต่ตำรวจมีกำลังไม่พอที่จะควบคุมสถานการณ์ได้
ประธานาธิบดีเต็งเส่งประกาศผ่านโทรทัศน์ว่า อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังรุดหน้า ชาวพม่าในพื้นที่บอกว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ ถือเป็นเหตุรุนแรงระหว่างศาสนาที่หนักหน่วงที่สุดในพม่า
ด้านต่างประเทศ

อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าที่พม่าร่วมกับสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าหาทางยุติความรุนแรงโดยทันทีและทำทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อปกป้องพลเมือง และดำเนินการต่อศัตรูที่อยู่เบื้องหลัง ส่วนที่ปรึกษาพิเศษเกี่ยวกับพม่าประจำสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสร้างความสงบ เร่งบันเทาความตึงเครียดและสร้างสันติภาพ ส่วนองค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าหาทางยุติความรุนแรง มิฉะนั้น พม่าเสี่ยงที่จะเผชิญกับการจลาจลที่วนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น เพราะความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธและมุสลิมเริ่มกระจายไปในส่วนอื่นของประเทศ
เหตุจลาจลในรัฐยะไข่ พ.ศ. 2555
เป็นชุดข้อพิพาทที่ดำลังดำเนินอยู่ระหว่างชาติพันธุ์ยะไข่พุทธและมุสลิมโรฮิงยาทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศพม่า แต่เมื่อถึงเดือนตุลาคม มุสลิมทุกชาติพันธุ์เริ่มตกเป็นเป้า เหตุจลาจลเกิดขึ้นหลังข้อพิพาททางศาสนาหลายสัปดาห์และถูกประณามโดยประชาชนทั้งสองฝ่ายของข้อพิพาทส่วนใหญ่สาเหตุของเหตุจลาจลที่ใกล้ชิดยังไม่ชัดเจน ขณะที่นักวิจารณ์หลายคนอ้างว่า เหตุชาติพันธุ์ยะไข่สังหารมุสลิมพม่าสิบคนหลังการข่มขืนและฆ่าสตรีชาวยะไข่เป็นสาเหตุหลัก รัฐบาลพม่าสนองโดยกำหนดการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืน และวางกำลังทหารในพื้นที่ วันที่ 10 มิถุนายน มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่ ซึ่งอนุญาตให้ทหารเข้ามาปกครองพื้นทีถึงวันที่ 22 สิงหาคม ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 88 คน เป็นมุสลิม 57 คน และชาวพุทธ 31 คน ประเมินว่ามีประชาชน 90,000 คนพลัดถิ่นจากความรุนแรงดังกล่าว มีบ้านเรือนถูกเผาราว 2,528 หลัง จำนวนนี้ 1,336 หลังเป็นของชาวโรฮิงยา และ 1,192 หลังเป็นของชาวยะไข่ กองทัพและตำรวจพม่าถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทนำในการจับกุมหมู่และความรุนแรงตามอำเภอใจต่อชาวโรฮิงยา การต่อสู้เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 64 คน และบ้านเรือนหลายพันหลังถูกทำลาย
ความเป็นมา

เหตุปะทะระหว่างสองชาติพันธุ์เกิดขึ้นอยู่เป็นช่วงๆ อยู่หลายครั้ง โดยมากเป็นการปะทะระหว่างชาวพุทธยะไข่ซึ่งเป็นคนส่วนมากกับชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ซึ่งรัฐบาลพม่านับชาวโรฮิงยาเหล่านี้ว่าเป็นผู้อพยพ จึงไม่มีสิทธิที่จะเป็นพลเมืองของประเทศ นักประวัติศาสตร์หลายคนบอกว่าชาวโรฮิงยานี้อยู่ที่นี่มาหลายศตวรรษแล้ว ในขณะที่นักประวัติศาสตร์อีกส่วนบอกว่าชาวโรฮิงยาเพิ่งปรากฏในแถบนี้ในช่วงศตวรรษที่ 19 เท่านั้น สหประชาชาตินับกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงยาเหล่านี้ว่าเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดในโลก นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ อีเลน เพียร์สัน ยังออกมากล่าวว่า " หลังจากหลายปีแห่งการกดขี่ ข่มเหง รังแก วันหนึ่งฟองสบู่นั้นจะแตกออก และนั่นคือสิ่งที่เรากำลังเห็นในขณะนี้ "

ในเย็นของวันที่ 28 พฤษภาคม กลุ่มมุสลิมสามคน ซึ่งมีชาวโรฮิงยาสองคนอยู่ในนั้น ได้ทำการปล้นฆ่าข่มขืนหญิงชาวยะไข่ชื่อ Ma Thida Htwe ต่อมาตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยทั้งสามแล้วส่งไปยังเรือนจำของเมืองยานบาย ในวันที่ 3มิถุนายนผู้ประท้วงได้ทำการโจมตีรถบัสคันหนึ่งเนื่องจากเชื่อว่าผู้ต้องสงสัยทั้งสามนั้นอยู่ในรถบัสนั้นผลจากเหตุการณ์นั้นได้ทำให้ชาวมุสลิม 10 คนเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลให้เกิดการประท้วงจากกลุ่มมุสลิมชาวพม่าในย่างกุ้ง รัฐบาลตอบสนองโดยการตั้งรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจอาวุโสเพื่อเป็นผู้นำในการสืบสวนเพื่อสืบหาสาเหตุและการยั่วยุที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์และดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งนับถึงวันที่ 2 กรกฎาคม มีผู้ถูกจับไปแล้ว 30 คนเนื่องจากการฆ่าชาวมุสลิมทั้งสิบนี้
- http://prachatai.com/category/%E0%
- http://www.suthichaiyoon.com/home/details.php?NewsID=2354
- http://prachatai.com/journal/2013/04/46150
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น