ประเทศในเอเชีย สาธารณรัฐอิรัก
รายงาน
วิชา ประวัติศาสตร์ เอเชีย ( GOHI 3212 ) กลุ่มเรียนที่ 102
สาธารณรัฐอิรัก
จัดทำโดย
นายสามารถ ซุ่นใช้ รหัสนักศึกษา 5311216468
คณะศึกษาศาสตร์ เอกสังคมศึกษา
เสนอ
อาจารย์ : พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
คำนำ
รายงานเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา ประวัติศาสตร์เอเชีย ( GOHI3212 ) จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆของประเทศอิรัก หรือสาธารณรัฐอิรัก ผู้จัดทำได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลมากมายไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์เน็ต หนังสือต่างๆที่เกี่ยวกับข้อมูลของประเทศอิรัก และได้จัดทำขึ้น ในเนื้อหารายงานเล่มนี้ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับ ข้อมูลทั่วไปของประเทศ ประวัติความเป็นมาของประเทศ โครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางวัฒนธรรมโครงสร้างทางสังคม ประวัติศาสตร์อิรัก การเข้าร่วมองค์กรต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิรัก ผู้จัดทำได้ศึกษาและจัดทำรายงานเล่มนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความเป็นมาและข้อมูลพื้นฐานของประเทศอิรัก
ผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านหรือผู้ที่ศึกษาจากรายงานเล่มนี้จะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย หากเนื้อหาในรายงานเล่มนี้ยังไม่สมบูรณ์หรือขาดตกบกพร่องประการใด ผู้จัดทำก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
สารบัญ
เรื่อง หน้า
คำนำ (ก)
สารบัญ (ข)
ข้อมูลทั่วไปสาธารณรัฐอิรัก 1-2
ประวัติความเป็นมา 3
พัฒนาการทางการเมือง 4
สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ 5
การคมนาคม 6
สมาชิกในองค์การระหว่างประเทศ 7
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ 7
การปฏิรูประบบการค้า 8-9
ความสัมพันธ์ระหว่าไทยกับสาธารณะรัฐอิรัก 10-11
รูปแบบการปกครอง 12-14
ประวัติศาสตร์ของประเทศอิรัก 15
บรรณานุกรม
สาธารณรัฐอิรัก
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ : สาธารณรัฐอิรัก (Republic of Iraq) หรือ อิรัก (Iraq)
ที่ตั้ง : เอเชียตะวันออกกลาง บริเวณอ่าวเปอร์เชีย ระหว่างประเทศอิหร่านและคูเวต
พื้นที่ : พื้นที่ทั้งหมด 437,072 ตารางกิโลเมตร (พื้นดิน 432,162 ตารางกิโลเมตร พื้นน้ำ 4,910 ตารางกิโลเมตร)
อาณาเขต : พรมแดนยาว 3,650 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดกับประเทศคูเวต (240 กิโลเมตร) ซาอุดีอาระเบีย (814 กิโลเมตร) จอร์แดน (181 กิโลเมตร) ซีเรีย (605 กิโลเมตร) ตุรกี (352 กิโลเมตร) และอิหร่าน (1,458 กิโลเมตร)
สภาพภูมิประเทศ : พื้นที่ร้อยละ 40 เป็นทะเลทรายและที่ราบกว้างใหญ่ บริเวณพรมแดนอิหร่านด้านใต้เต็มไปด้วยแอ่งน้ำเต็มไปด้วยต้นไม้ประเภทต้นกกต้นอ้อซึ่งมักจะกลายเป็นบริเวณที่มีน้ำท่วม พื้นที่บริเวณพรมแดนอิหร่านและตุรกีมีลักษณะเป็นภูเขา
ภัยธรรมชาติ : พายุฝุ่น (Dust Storm) พายุทราย (Sand Storm) น้ำท่วม
ประชากร
สังคมของอิรักเป็นสังคมหลากหลายชาติพันธุ์เป็นเหตุมาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เป็นแหล่งอารยธรรมมาหลายพันปี พลเมืองของอิรักที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น ได้แบ่งเป็น 2กลุ่มใหญ่ คือ มุสลิมชีอะห์(ร้อยละ 65) และ มุสลิมสุหนี่ (ร้อยละ 20)นอกจากนี้ยังมีชาวเคิร์ดอยู่ในบริเวณเคอร์ดิสถาน ชาวเคริ์ดในอริรักมีอยู่ประมาณ 3,700,000 คน นับว่าเป็นคนส่วนน้อยในอิรัก และเนื่องด้วยรูปแบบการปกครองที่ให้สิทธิของชนชาติอาหรับ และผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับมุสลิมสุหนี่ ส่งผลให้ กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา และชาติพันธุ์ในอิรัก ทั้งกับมุสลิมด้วยกันเองคือ สุหนี่และชีอะห์ และยังปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวคิร์ดกับรัฐบาลกลางของอิรัก เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมอีกด้วย
สภาพภูมิอากาศ
อากาศแบบทะเลทรายแห้งแล้ง ฝนตกน้อย ในฤดูร้อนอากาศร้อนจัดในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด ฤดูร้อน (เมษายน - กันยายน) อากาศร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 40-60 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว (ตุลาคม - มีนาคม) อากาศหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 4-10 องศาเซลเซียส ภูเขาด้านเหนือบริเวณพรมแดนอิหร่านและตุรกีจะมีฤดูหนาวในหน้าหนาว บางครั้งหิมะตกอย่างหนักและจะละลายเมื่อย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ทำให้น้ำท่วมอย่างรุนแรงบริเวณภาคกลางและทางภาคใต้
ทรัพยากรธรรมชาติ
ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ฟอร์สเฟท ซัลเฟอร์ นอกจากนั้น แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสซึ่งไหลผ่านกลางประเทศเป็นแหล่งพลังงานและทรัพยากรที่สำคัญของอิรักอีกด้วย
ประวัติความเป็นมา
อิรักเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เรียกว่า เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) หมายถึง แผ่นดินที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำไทกริส (Tigis) และยูเฟรตีส (Euphrates) ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นดินแดนที่มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีผู้คนอพยพจากที่ต่างๆ เพื่อมาอาศัยในดินแดนแห่งนี้ มีอาณาจักรโบราณหลายแห่ง อาทิ อาณาจักรซูเมอร์ (Sumerian Civilization) อาณาจักรบาบิโลเนีย (Babylonia) อัสซีเรีย (Assyria) มีเดีย (Media) เป็นต้น ในศตวรรษที่ 8 Abassid caliphateได้ตั้งเมืองหลวงขึ้น ณ กรุงแบกแดด ต่อมาในปี พ.ศ. 1996 พวกเติร์ก แห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) ได้ยึดครองดินแดนที่เป็นอิรักได้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดินแดนแห่งนี้จึงอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2461
ในปี พ.ศ. 2463 อิรักตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และได้รับอิสรภาพและประกาศเป็นราชอาณาจักรเมื่อปี พ.ศ. 2475 และต่อมาได้มีการปฏิวัติโค่นล้มระบบกษัตริย์และเปลี่ยนสถานะเป็นสาธารณรัฐอิรักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 มีการปกครองโดยประธานาธิบดี ทั้งนี้ อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2522 และนำประเทศทำสงครามกับอิหร่านระหว่างปี พ.ศ. 2523-2531 ต่อมาอิรักได้ส่งกองทัพบุกยึดครองคูเวตเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2533 จนทำให้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียซึ่งกองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ขับไล่กองกำลังอิรักออกจากคูเวตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
หลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย สหประชาชาติได้ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิรัก และต่อมาสหรัฐฯ และพันธมิตรได้พยายามกดดันให้รัฐบาลอิรักทำลายอาวุธร้ายแรง ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546 สหรัฐฯ และพันธมิตรได้ทำสงครามโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน และได้เข้ายึดการปกครองประเทศ โดยได้จัดตั้งคณะบริหารประเทศชั่วคราวของกองกำลังพันธมิตร (Coalition Provisional Authority - CPA) ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2546
ต่อมา ได้มีการส่งมอบอำนาจอธิปไตยคืนให้แก่รัฐบาลชั่วคราวของอิรัก (Iraqi Interim Government) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2548 ได้มีการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติ ที่มีจำนวนสมาชิก 275 ที่นั่ง และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน (Transitional Government) เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2548 โดยมีนาย Jalal Talabani ชาวเคิร์ดเป็นประธานาธิบดี และนาย Ibrahim Al-Jaafari ชาวชีอะต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ ต่อมาได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญของอิรัก และลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับถาวรดังกล่าวเมื่อวันที่15ตุลาคม พ.ศ. 2548
เมื่อวันที่15ธันวาคม 2548อิรักได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและมีการจัดตั้งรัฐบาลถาวรอิรัก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 โดยนาย Jalal Talabani ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิรักอีกครั้งหนึ่ง และนาย Nouri Al-Maliki จากพรรค Dawa ของชาวอิรักนิกายชีอะต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน
พัฒนาการทางการเมือง
ภายหลังสหรัฐฯ ได้ประกาศสิ้นสุดสงครามเมื่อ พ.ค. 2546 กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน นับตั้งแต่สหรัฐฯ ได้ส่งมอบอำนาจการบริหารประเทศคืนให้กับอิรักเมื่อ มิ.ย. 2547 มีการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเมื่อช่วงต้นปี2548มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548 ซึ่งพรรคพันธมิตรของชาวชีอะต์ได้รับเสียงข้างมาก โดยได้ที่นั่งในสภาจำนวน 128 ที่นั่งจากจำนวน 275 ที่นั่ง ขณะที่พรรคการเมืองของชาวสุหนี่ได้ที่นั่งรองลงมาจำนวน 69 ที่นั่ง กลุ่มชาวเคิร์ดได้ 53 ที่นั่ง และกลุ่มผู้สมัครอิสระได้ 25 ที่นั่ง มีการเปิดประชุมสภาฯ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลอิรัก เป็นไปอย่างล่าช้า
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติอิรักได้เลือกนาย Jalan Talabani อดีตประธานาธิบดีในช่วงรัฐบาลเฉพาะกาล ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิรักอีกครั้งหนึ่ง และลงมติรับรองให้นาย Nouri Al-Maliki รองหัวหน้าพรรค Dawa ของชาวชีอะต์ อดีตโฆษกรัฐบาลเฉพาะกาล และเคยลี้ภัยไปอยู่ซีเรียในช่วงการปกครองของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีรองนายกรัฐมนตรี 2 คน ได้แก่ นาย Barham Salih และนาย Salam Al-Zubai โดยรัฐบาลถาวรของอิรักประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 37 คน
หมายเหตุ อิรักยังคงมีปัญหาในด้านการเมือง ซึ่งสหรัฐฯ และพันธมิตร รวมทั้งประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มชาติอาหรับ ได้เรียกร้องให้อิรักเร่งสร้างความปรองดองและจัดสรรอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นธรรมระหว่างกลุ่มศาสนานิกายต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ
1. ข้อเสนอรูปแบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ (federalism) ซึ่งถูกผลักดันโดยฝ่ายชีอะต์ อย่างไรก็ดี ฝ่ายสุหนี่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่า จะนำมาซึ่งความแตกแยกของอิรักออกเป็นรัฐอิสระ โดยมองว่า ฝ่ายเคิร์ดที่อยู่ทางเหนือ และฝ่ายชีอะต์ที่อยู่ทางตอนใต้ จะสามารถครอบครองแหน่งน้ำมันสำคัญในพื้นที่ตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ
2. ปัญหาเรื่องรูปแบบการจัดสรรรายได้ที่เกิดขึ้นจากน้ำมัน ยังมิได้มีการกำหนดจัดสรรอย่างลงตัว
3. ปัญหาเรื่องการกำหนดสิทธิอำนาจในการให้สัมปทานน้ำมันของอิรัก
4. ปัญหาเรื่องการจัดสรรน้ำจืดระหว่างภาคต่างๆ
5. ปัญหาการระบุเกี่ยวกับรัฐอิรัก ซึ่งฝ่ายสุหนี่ต้องการให้ระบุว่า อิรักเป็นรัฐอาหรับ อย่างไรก็ดี ฝ่ายเคิร์ด ไม่ยอมรับ เนื่องจากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งมีชาวเคิร์ดกว่า 6 ล้านคนมิได้มีเชื้อสายอาหรับ ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญจึงได้ระบุถ้อยคำเพียงว่า อิรักเป็นรัฐอิสลาม และอิรักเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสันนิบาตอาหรับ
สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
ความปลอดภัยในอิรัก
สถานการณ์ในอิรักยังมีความขัดแย้งและมีความรุนแรงอยู่โดยทั่วไป โดยยังคงมีการดำเนินการในลักษณะต่างๆ ของฝ่ายต่อต้านกองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตร รวมทั้งการต่อต้านรัฐบาลอิรัก ตลอดจนการต่อสู้ระหว่างกลุ่มศาสนาและเชื้อชาติ ทั้งในลักษณะการระเบิดพลีชีพ การจับตัวประกันชาวต่างชาติและชาวอิรัก และการเรียกค่าไถ่เพื่อหวังผลทางการเมืองและเพื่อเงิน ตลอดจนการติดตามสังหารเจ้าหน้าที่การทูต และเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในอิรัก
ความเป็นอยู่ทั่วไป
ความเป็นอยู่ในอิรักโดยทั่วไปยังมีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนสาธารณูปโภคทุกประเภทที่สำคัญ อาทิเช่น ไฟฟ้า และน้ำประปาสำหรับอุปโภคและบริโภค ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในอิรักถูกทำลายตั้งแต่ช่วงเกิดสงคราม และยังไม่ได้รับการบูรณะปรับปรุงตามที่คาดหมายไว้ไฟฟ้าในอิรักสามารถมีใช้ได้เพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวันปัญหาเรื่องสุขอนามัยที่ยังมีปัญหาสืบเนื่องจากระบบการจัดการขยและมลภาวะที่เป็นพิษที่เกิดจากสงคราม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคนว่างงานและปัญหาอาชญากรรมภายในประเทศที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มศาสนา
ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มศาสนาซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธของตนเองยังปรากฏอยู่ในอิรักอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลยังไม่สามารถใช้อำนาจรัฐได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้มีการอพยพหลั่งไหลของคนอิรักออกไปยังประเทศต่าง ๆ จำนวนนับล้านคน อาทิ จอร์แดน มีผู้อพยพจากอิรักมายังจอร์แดนหลายแสน ซีเรีย ซูดาน และอียิปต์ ก็มีผู้อพยพไปอยู่เป็นจำนวนหลายแสนคนเช่นกัน
การคมนาคม
การเดินทางไปยังอิรักโดยรถยนต์ จะต้องผ่านเส้นทางและเขตต่าง ๆ ซึ่งตกอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายต่อต้าน และกลุ่มก่อการร้าย ดังนั้น การเดินทางโดยรถยนต์จึงไม่ปลอดภัยอย่างมาก ซึ่งอาจถูกซุ่มโจมตี ถูกปล้น และถูกจับไปเป็นตัวประกันได้ การเดินทางโดยทางเครื่องบิน มีสายการบินอิรัก และสายการบินจอร์แดน ซึ่งก็ปรากฏมีการสั่งปิดสนามบินกรุงแบกแดดอยู่เสมอ เนื่องจากสถานการณ์ความปลอดภัย โดยไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้า
สมาชิกในองค์การระหว่างประเทศ
- องค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนาญพิเศษต่าง ๆ
- สันนิบาตอาหรับ (Arab League)
- องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference - OIC)
- กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement - NAM)
- องค์การประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries - OPEC)
- องค์การประเทศอาหรับผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Arab Petroleum Exporting Countries - OAPEC)
- คณะมนตรีความร่วมมือแห่งอาหรับ (Arab Cooperation Council - ACC)
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ระบอบเศรษฐกิจของอิรักเป็นแบบ สังคมนิยม รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง นั่นคือรัฐบาลกลางของอิรัก มีระบบรัฐสวัสดิการมีการแจก ข้าว น้ำตาล ยารักษาโรคบางชนิด นม เสื้อผ้า ให้แก่ประชากรของอิรัก เศรษฐกิจของอิรักค่อนข้างถูกกดดันจากประชาคมโลกโดยเฉพาะในช่วง วิกฤติการณ์อ่าวเปอร์เซีย สงครามอิรัก และ ช่วงเหตุการณ์ 9/11 ทำให้เศรษฐกิจของอิรักบอบช้ำ แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอิรักคือ น้ำมัน อิรักเป็นประเทศที่มีน้ำมันไว้ในครอบครองเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดีอารเบีย โดยผลิตได้วันละ 2.58 ล้านบาห์เรล ต่อวัน ส่งผลให้อิรักกลายเป็นดินแดนที่น่าสนใจอย่างยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจน้ำมันจากสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งหวังเข้าไปกอบโกยทรัพยากรล้ำค่า อย่าง ทองคำดำในอิรัก
อิรักมีรายได้หลักของประเทศจากการส่งออกน้ำมันดิบประมาณร้อยละ 95 นอกจากนั้น มีรายได้จาก อินทผลัม ปุ๋ย และอื่น ๆ บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ในอดีตอิรักเคยเป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงและเคยมีระบบการศึกษา วิชาการและสาธารณสุขที่ก้าวหน้ามากประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง อิรักมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองประมาณ 115 พันล้านบาร์เรล เป็นอันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งมีก๊าซธรรมชาติอีกจำนวนมหาศาล (ประมาณ 110 พันล้านลูกบาศก์ฟุต)
ช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 อิรักเผชิญกับความยากลำบากจากสงครามกับอิหร่าน รวมทั้งสงครามอ่าวเปอร์เซีย ตลอดจนการอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค สภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบัน รัฐบาลอิรัก โดยการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ตลอดจนนานาประเทศ ได้พยายามฟื้นฟูสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอิรัก ภายใต้แผนระดมการสนับสนุนเพื่อพัฒนาประเทศอิรักในระยะยาว
"International Compact with Iraq" อัตราว่างงานในอิรักยังคงสูงระดับร้อยละ 28-50 อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากการที่สามารถฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมน้ำมันได้ และอยู่ในขั้นตอนที่จะกลับเข้าสู่ระบบการค้าโลกได้
การปฏิรูประบบการค้า
ภายหลังสงคราม รัฐบาลอิรักได้พยายามฟื้นฟูระบบการค้าและเศรษฐกิจ โดยยกเว้นการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมนำเข้าสินค้าอิรักทุกประเภท อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2547 ได้เริ่มมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ ในอัตราร้อยละ 5 โดยยกเว้นสินค้า ประเภท อาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าด้านมนุษยธรรม รวมทั้งสินค้าสำหรับโครงการก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศ รัฐบาลอิรักพยายามปรับปรุงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขระเบียบการค้าเพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งส่งเสริมการติดต่อกับบริษัทจากประเทศต่างๆรวมทั้งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การปรับปรุงสนามบินนานาชาติแบกแดด การเปิดทำการของสายการบิน Royal Jordanian (อัมมาน-แบกแดด-อัมมาน) ปรับปรุงท่าเรือ Umm Qasr และ Az Zubair (เริ่มมีการขนส่งสินค้าทางเรือเฉลี่ยเดือนละ 60เที่ยว)
การส่งเสริมการลงทุน
แต่เดิมอิรักภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซ็น ได้จำกัดการลงทุนของต่างชาติ (เช่นเดียวกับชาติอาหรับหลายประเทศ ซึ่งจำกัดให้คนชาติตน เป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจ) อย่างไรก็ดี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการออกระเบียบเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2547 อนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ ยกเว้น การครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ (อิรักต้องการสงวนการครอบครองทรัพยากรน้ำมัน) และมีการออกกฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนธุรกิจการค้าภายในอิรัก ผู้ประกอบการสามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ระยะยาวถึง 40 ปี (แต่ไม่สามารถเป็นเจ้าของ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบในการเช่า (เช่น บางกรณีมีการขอขึ้นค่าเช่าในแต่ละปีหลายเท่าตัว)
อิรักเปิดกิจการตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2547 มีมูลค่าการซื้อขายยังไม่มากนัก และยังไม่เปิดการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ ตลาดหลักทรัพย์อิรักทำการ 2 วันต่อสัปดาห์ และวันละ 2 ชั่วโมง รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและบริษัท (corporate and personal income taxes)โดยทั่วไปไม่เกินร้อยละ 15 นอกจากนี้ รัฐบาลอิรักได้จัดตั้ง Iraqi Business Center Alliance ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนต่างชาติ ในการเข้าไปลงทุนในอิรัก และช่วยจัดหาผู้ร่วมลงทุนท้องถิ่น (domestic partners)
การเงินและการธนาคาร
รัฐบาลอิรักมีนโยบายส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยพยายามปรับปรุงระบบการเงินการธนาคารให้ได้มาตรฐาน หลังจากถูกควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้ระบอบซัดดัมฮุสเซ็นมาอย่างยาวนาน เช่น การสร้างความเป็นอิสระของธนาคารชาติ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการค้า (Trade Bank of Iraq) การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ การป้องกันการฟอกเงิน เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาธนาคารท้องถิ่นให้มีมาตรฐานสากล
อิรักมีธนาคารและสถาบันการเงินท้องถิ่น 6แห่ง โดยธนาคารสำคัญได้แก่ ธนาคาร Rafidainและธนาคาร Rashid ที่ผ่านมา ธนาคารและสถาบันการเงินทั้ง 6 แห่ง ยังมีหนี้สินจำนวนมาก และไม่พร้อมสำหรับการประกอบกิจการติดต่อธุรกิจในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2547เป็นต้นมา ธนาคารชาติอิรักได้สั่งการให้ธนาคารต่างๆ ของอิรัก เปิดธุรกิจปริวรรตเงินตราและการค้าระหว่างประเทศ (international payment, remittances, foreign currency L/C) รัฐบาลอิรักพยายามส่งเสริมให้ธนาคารต่างชาติเข้าไปลงทุนในอิรัก ที่ผ่านมา มีธนาคารต่างชาติได้รับใบอนุญาตประกอบการในอิรัก แต่ยังไม่เปิดทำการ ได้แก่ Hong Kong Shanghai Banking Corporation, Standard Chartered Bank, Arab Banking Corporation และ National Bank of Kuwait (NBK)
แม้ธนาคารอิรักยังไม่มีความพร้อม แต่เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการประกอบธุรกิจการค้า รัฐบาลอิรักจึงได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการค้า (Trade Bank of Iraq : TBI) ซึ่งลงทุนร่วมกับ J.P. Morgan Chase อำนวยความสะดวกด้านการเงินและการค้ำประกัน (trade finance and short-term credit) ให้กับบริษัทท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะผู้นำเข้า ที่ผ่านมา มีการเปิด L/C ไปแล้วจำนวนกว่า 900 รายการ (ปี 2548)มูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ international suppliers ไม่ต่ำกว่า 59 ประเทศนอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ และกองทุนที่เกิดจากการร่วมลงทุน ที่ให้ความสะดวกและค้ำประกันการค้า เช่น การลงทุนร่วมระหว่างกระทรวงการคลังอิรัก และ TBI และ Ex-Im Bank ของสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ สถาบันการเงิน International Finance Corporation (IFC) ของ World Bank จัดตั้งกองทุนมูลค่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และกองทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างฟื้นฟูบูรณะของ IMF มูลค่า 436 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิรัก
ประเทศไทยกับอิรักสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม2499 (1956) ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแบกแดด และอิรักมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ในระหว่างสงครามสหรัฐฯ บุกโจมตีอิรักได้มีการปิดที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตอิรักในกรุงเทพฯ ในส่วนของไทยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแบกแดด ได้อพยพออกจากอิรักก่อนสงคราม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2546 และได้จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน โดยยังคงมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลอาคารสถานเอกอัครราชทูตในกรุงแบกแดด
ไทยและอิรักมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยไม่เคยมีข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน ในช่วงหลังสงคราม ไทยมีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อิรัก อาทิ การช่วยเหลือด้านอาหารผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เช่น WFP นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการหลักสูตรฝึกอบรมในสาขาต่างๆ ให้แก่บุคลากรอิรักในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ซึ่งมีภารกิจครอบคลุมอิรัก เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัมมาน ได้แก่ นายอิสินทร สอนไว ในส่วนของอิรัก สอท.อิรัก ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ ได้ปิดทำการไปตั้งแต่ช่วงสงคราม สหรัฐฯ - อิรักเดือนเมษายน พ.ศ. 2546
ไทยและอิรัก ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Committee - JTC) เมื่อปี2527 โดยอิรักได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกที่กรุงแบกแดด เมื่อปี 2531 และครั้งที่สองเมื่อปี2543 สำหรับครั้งที่ 3 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 8-12 มกราคม 2545
ไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อิรักมาโดยตลอด นับตั้งแต่อิรักถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก และในช่วงหลังสงครามสหรัฐฯ และอิรัก ไทยได้บริจาคเงินผ่าน ICRC จำนวน 10 ล้านบาท ช่วยเหลือด้านอาหารมูลค่า 20 ล้านบาทผ่าน WFP และส่งกองกำลังเฉพาะกิจฯ ไปช่วยเหลือด้านการแพทย์ และบูรณะซ่อมแซมเป็นระยะเวลา 1 ปี รวมทั้งล่าสุดได้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับชาวอิรักในสาขาต่างๆ ตามความต้องการจนถึงปัจจุบัน
การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวอิรักของ กกล.ฉก.976 ไทย/อิรัก ระหว่าง ตุลาคม2546กันยายน 2547
ตามมติของสหประชาชาติที่ 1483 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 ให้สมาชิกสหประชาชาติให้การสนับสนุนกองกำลังพันธมิตรในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อิรักเป็นการเร่งด่วน และให้การสนับสนุนฟื้นฟูบูรณะอิรักให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ รัฐบาลไทยจึงได้เสนอให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาและฟื้นฟูอิรักหลังสงครามโดยเน้นให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก โดยจัดตั้ง กองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก หรือ กกล.ฉก.976 ไทย/อิรัก จำนวน 2 ผลัด ผลัดละ 443 นายไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองคาร์บาลา ประเทศอิรัก ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2546 - ก.ย. 2547
·
ด้านการช่าง
สนับสนุนฟื้นฟูบูรณะอิรัก ได้แก่ การซ่อมสร้างถนน 13 สาย อาคารโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่สาธารณและระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหาย
·
ด้านการแพทย์
เปิดบริการ MOBILE CLINIC ให้การรักษาพยาบาลแก่ชาวอิรักในเขตพื้นที่เมืองคาร์บาร่าและบริเวณใกล้เคียง ให้การรักษาพยาบาลแก่ชาวอิรักเป็นจำนวน 32,241 ราย
· ด้านส่งเสริมการเกษตร
ในผลัดที่ 2 มีการส่งชุดส่งเสริมการเกษตรเข้าไป แนะนำด้านการเกษตรกรรม เพื่อให้ชาวอิรักสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ มีการนำพันธุ์พืชแจกจ่ายให้กับชาวอิรัก รวมทั้งจะมีการอบรมการใช้ปุ๋ยเพื่อให้พื้นดินเหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีมาแล้วในติมอร์ตะวันออก
· ด้านกิจการพลเรือน
- ปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์รอบค่ายลิม่า โดยจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่เดินทางไปให้บริการประชาชนชาวอิรัก และนำสิ่งของอุปโภค บริโภค ซึ่งประกอบด้วย ข้าวสาร ผ้าห่ม ปลากระป๋อง นมกระป๋องสำหรับทารก ของเด็กเล่น ฯลฯ - ปัจจุบัน กกล.ฉก. 976 ฯ ถอนตัวออกจากอิรักทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2547
รูปแบบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา (Parliamentary Democracy)
เมืองหลวง
กรุงแบกแดด (Baghdad) ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ เมืองสำคัญได้แก่ เมือง Mosul และเมืองKirkuk ทางตอนเหนือ และเมือง Basrah ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางตอนใต้
การแบ่งการปกครอง
18 เขตการปกครองที่มีผู้ว่าการรัฐ หรือ Muhafazah ดูแล และ 1 ภูมิภาค ได้แก่ Al Anbar, Al Basrah, Al Muthanna, Al Qadisiyah (Ad Diwaniyah), An Najaf, Arbil (Erbil), As Sulaymaniyah, Babil, Baghdad, Dahuk, Dhi Qar, Diyala, Karbala', Kirkuk, Kurdistan Regional Government*, Maysan, Ninawa, Salah ad Din, Wasit
วันที่ได้รับเอกราช 3 ตุลาคม พ.ศ. 2475
รัฐธรรมนูญ
อนุมัติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2548 (Subject to review by the Constitutional Review Committee and a possible public referendum)
ระบบกฏหมาย
ระบบกฎหมายผสมผสานระหว่างระบบประมวลกฎหมายและกฎหมายอิสลาม
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อจากนายก โดยได้รับการลงคะแนนรับรองด้วยเสียงข้างมากจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นผู้เลือกประธานาธิบดี วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี สามารถดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 2 ได้
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ระบบสภาเดียว (unicameral Council of Representatives) สมาชิกจำนวน 325 ที่นั่ง ประกอบด้วยสมาชิก 317 คนมาจากการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด ( open-list) หรือ จากระบบตัวแทนแบบสัดส่วนจากหน่วยงานปกครองเฉพาะ (specific governorate, proportional representation system) และอีก 8 ที่นั่งสงวนไว้สำหรับชนกลุ่มน้อย วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี (หมายเหตุ: ตามรัฐธรรมนูญของอิรัก กำหนดให้มีการก่อตั้งสภาสูง (upper house) เรียกว่า the Federation Council)
ฝ่ายตุลาการ
กฎหมายรัฐธรรมนูญของอิรักระบุให้อำนาจฝ่ายตุลากาลของรัฐ (Federaljudicial power) ประกอบด้วย
· Higher Judicial Council,
· Federal Supreme Court,
· Federal Court of Cassation,
· Public Prosecution Department,
· Judiciary Oversight Commission
· ศาลอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้กฎบัญญัติของกฏหมาย
แผนที่การแบ่งเขตการปกครอง
|
เขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Autonomous Region) ซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มีพื้นที่รวมบางส่วนของจังหวัดทางเหนือ และปกครองตนเองในเรื่องราชการภายในส่วนใหญ่
ประวัติศาสตร์ของประเทศอิรัก
- พ.ศ. 2281 - ตกอยู่ใต้อาณาจักรออตโตมาน
- พ.ศ. 2465 - ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ
- พ.ศ. 2475 - สิ้นสุดการเป็นรัฐในอาณัติของอังกฤษ เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ
- พ.ศ. 2501 - เปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นสาธารณรัฐ
- พ.ศ. 2511 - เริ่มต้นการปกครองโดยพรรคบาธ โดยมีประธานาธิบดี Ahmad Masan Al Bakr และรองประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein)
- พ.ศ. 2522 - ซัดดัม ฮุสเซน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
- พ.ศ. 2523-2531 -สงครามระหว่างอิรัก-อิหร่าน (สงครามอ่าวครั้งที่ 1)
- พ.ศ. 2533 - เข้ายึดครองคูเวต(สงครามอ่าวครั้งที่ 2)
- พ.ศ. 2533 – ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหประชาชาติ
ขอขอบคุณเเหล่งข้อมูล
บรรณานุกรม
ประเทศอิรัก จากเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศ
บรรณนุกรม ประเทศอิรัก (ข้อมูลท่องเที่ยวอิรัก.) 11 ธันวาคม 2553 http://th.tixik.com/c/-2/ 11 ธันวาคม2553 (ประเทศอิรัก.) 10 ธันวาคม 2553
กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ
รูปแบบสวยงาม เนื้อหาน่าสนใจ สีสันของหัวข้อย่อยควรมีรูปแบบเดียวกียวอย่าให้หลากหลาย แหล่งข้อมูลในบรรณานุกรมควรจัดชิดข้าง(หน้า)ของคอลัมน์ ควรพัฒนาให้เป็นของตัวเองด้วยการอ้างอิงแบบเชิงอรรถ เพื่อแสดงที่มาของเอกสารอย่างละเอียดจะสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ตอบลบ